"อะไรก็แล้วแต่ถ้าทำเป็น"งาน"แล้วไม่มีสบายหรอก" พ่อผมเคยบอกว่าอย่างนั้น
มาลองคิดๆดูเห็นท่าจะจริง คุณลองสังเกตุดูสิ ถ้าอะไรที่ลองทำเล่นๆไม่จริงไม่จังนัก
เรามักจะรู้สึกสนุกกับมัน และมักจะทำมันได้ดีเสียด้วย
คุณเคยไปช่วยเพื่อนขายของตลาดนัดกันบ้างไหมล่ะ สนุกนะ
เต็มที่ครับขายไปกินไปได้ก็ช่างไม่ได้ก็ช่างเพราะเราไม่มีส่วนได้เสียตรงนั้น
ต่างกันกับเพื่อนเจ้าของร้านเครียดเกือบตายของก็ขายไม่ค่อยได้
ค่าเช่าที่ยังไม่มีจ่าย แถมยังต้องมารับรองเพื่อนอีก
แต่เราก็ไม่สนใจเพราะเราขายเอามันส์อย่างเดียว
หรือบางทีคุณอาจจะเคยรับอาสาทำงานอะไรช่วยเพื่อน โดยที่งานนั้นไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของเรา
แต่ว่าอยากช่วยเพื่อนไง คุณก็ทำมันไปแบบสนุกสนานเพีงให้มันสำเร็จลงไป
ไม่ต้องคิดอะไรมาก ไม่ต้องตรวจสอบโดยละเอียด
ไม่ต้องซีเรียสอะไรเหมือนการทำงานาของเราเอง
เพราะคิดว่าไม่ใช่งานของเราๆเพียงมาช่วยเท่านั้น เพื่อนมันต้องรับผิดชอบเองสิ
ผลคือทำออกมาแล้วใช้ได้มั่งไม่ได้มั่ง
ทำให้เพื่อนต้องเสียเวลาอีกพักใหญ่ในการตรวจสอบและแก้ไข
ทั้งสองกรณีที่ยกตัวอย่างมา ถ้าลองเป็นงานของตัวเองดูบ้างสิ คุณว่าจะสนุกออกมั้ย ?...
แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณต้องทำมันเป็นงานประจำขึ้นมาแล้วล่ะก็
ผมคิดว่าความรู้สึกของคุณคงไม่ต่างจากเพื่อนผู้เป็นเจ้าของร้านและเจ้าของงานสองคนนั้น
และยิ่งถ้าเป็นงานในรูปของบริษัทด้วยแล้วล่ะก็ โอ๊ย..108ปัญหาสารพันครับ
ประเดประดังเข้ามาทั้งเบื่อทั้งหน่าย ทั้งเกียจคร้าน รำคาญเจ้านาย
วุ่นวายกับลูกน้อง ไหนยังต้องคอยมารบรากับเพื่อนๆอีก เฮ้อ..แค่คิดก็กลุ้มแล้ว
จนในบางครั้งอาจทำให้หลายๆคนแอบคิดในใจว่า "สู้ให้...ตกงานยังดีเสียกว่าที่จะต้องมาทนทำงานแบบนี้" แล้วคุณล่ะ?เคยมีความคิดเหล่านี้แวบเข้ามาในสมองบ้างมั้ยล่ะ
หรือว่าถ้ายังไม่รู้เราลองมาดูต้นเหตุแห่งอาการทั้ง 6 ที่บ่งบอกว่า
"คุณมีปัญหากับการทำงานงานเข้าแล้ว"กันครับ
1.เงินเดือนและสิ่งแวดล้อมไม่ตรงใจ
ในสังคมยุคปัจจุบันคงต้องยอมรับกันว่า
เงินเดือนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการทำงาน
ไม่ว่าใครๆก็คงอยากได้เงินเดือนสูงๆด้วยกันทั้งนั้นแหละครับ ยิ่งสูงมากก็ยิ่งดี
คงไม่มีใครที่ไหนบอกว่าอยากทำงานโดยไม่สนใจเรื่องเงินเดือน
แต่ว่าถ้าที่ทำงานที่ว่านั้นให้เงินเดือนที่ดี แต่ทว่าความรู้สึกกับที่ทำงาน
ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงานก็ตาม เจ้านายหรือลูกน้องก็ตาม หรือแม้แต่ตัวงานเองก็ตาม
ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้คุณสามารถทำงานได้อย่างมีความสุขหรือไม่มีความสุขก็ได้เหมือนกัน
เงินเดือนอาจจะน้อยหน่อย ค่อยๆทนทำไปเดี๋ยวคงได้ปรับขึ้น แต่ด้วยสภาพแวดล้อมดีอาจทำให้คุณรู้สึกว่ามีความสุขกับการทำงานมากขึ้น แต่ถ้าเงินเดือนก็สูงอยู่แล้ว
แต่ทว่าสภาพแวดล้อมที่กล่าวมาข้างต้นยังเหมือนเดิม (คือไม่ดีนั่นแหละ)
คุณคิดว่ามันจะทำให้คุณรู้สึกมีความสุขกับการทำงานมากขึ้นหรือไม่ หากคำตอบคือ "ไม่" แล้วล่ะก็ ผมว่าเปลี่ยนงานเถอะครับ
2.ความภาคภูมิใจในงานไม่ค่อยมี
จงมีความภูมิใจในตำแหน่งหน้าที่การงานของคุณเอง
แม้บางครั้งตำแหน่งหน้าที่นั้นอาจไม่ได้สำคัญหรือเป็นตำแหน่งในระดับสูงสำหรับใครหลายๆคน
แต่สำหรับคุณแล้วมันเป็นหน้าที่อันสำคัญและยิ่งใหญ่
และคุณก็ยินดีทำมันด้วยความเต็มใจเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นไม่ว่างานเล็ก งานใหญ่
หรืออยู่ในส่วนไหนๆขององค์กร ถ้าเป็นงานที่คุณทำด้วยความรู้สึกภาคภูมิใจแล้วล่ะก็
มันจะทำให้คุณรู้สึกสนุกและทำงานได้อย่างมีความสุขด้วยเช่นกัน
แต่ถ้าหากงานที่คุณทำนั้นมันทำให้คุณรู้สึกว่ามันไม่เป็นประโยชน์ใดๆกับคุณเลย
มิหนำซ้ำยังรู้สึกว่าเสียเวลาที่ต้องมานั่งทำงานแบบนี้ด้วยล่ะก็
ผมคิดว่ายังมีงานอื่นๆที่น่าจะเหมาะกับคุณรออยู่ข้างหน้าครับ
3.ไม่ยินดีกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
องค์กรใดๆก็ตามล้วนแล้วแต่ต้องการให้บุคลากรมีการพัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้นด้วยกันทั้งนั้น
เพราะทุกๆวันการแข่งขันยิ่งทวีความรุนแรงและเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสของโลกและสังคม
ดังนั้นตัวคุณเองต้องตามติดให้ทันเพื่อประโยชน์กับตัวคุณเองรวมถึงงานของคุณด้วย
คงไม่มีที่ทำงานที่ใดในโลกที่ต้องการพนักงานประเภทเงินเดือนมากขึ้นทุกปีๆ
แต่หน้าที่ความรับผิดชอบยังเหมือนตอนเข้ามาทำงานใหม่ๆ บริษัทส่วนใหญ่มักต้องการบุคลากรประเภทสารพัดประโยชน์
หรือประเภท ALL IN ONE มากกว่าบุคคลที่สามารถทำงานได้เพียงอย่างเดียว
เพราะการจ้างพนักงานเพียงคนเดียวแต่สามารถทำงานได้เหมือนหลายคนย่อมเป็นที่น่าปราถนากว่า
ดังนั้นหนทางแก้ไขก็คือ จงพยายามเพิ่มความรู้
ทักษะในการทำงานให้กับตัวเองให้หลากหลายมากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นความรู้เรื่องงานหรือไม่เกี่ยวข้องกับงานก็ดี
ซึ่งบางทีมันอาจจะนำมาประยุกต์ใช้กันได้
แต่ถ้าหากคุณยังทำตัวนิ่งเฉยไม่ยอมเรียนรู้หรือเปลี่ยนแปลงใดๆ
ผมคิดว่าในไม่ช้าคุณคงต้องหางานใหม่แน่นอน
4.ปราศจากผลตอบรับเชิงบวกใดๆ
ในชีวิตการทำงาน
ผมคิดว่าคงมีหลายๆคนรู้สึกว่าไม่ได้รับผลตอบรับที่ดีเพียงพอกับการทำงานในแต่ละวันที่ผ่านไป
แม้ว่าจะทุ่มเทให้กับงานเต็มที่เพียงใดแล้วก็ตาม ซึ่งโดยปกติทั่วไปแล้ว
คนทำงานทุกคนล้วนแล้วแต่ต้องการเป็นส่วนสำคัญของบริษัทด้วยกันทั้งสิ้น แต่ถ้าคุณสังเกตพบว่าการที่คุณไม่เคยได้รับคำชมเชยใดๆในการทำงาน
หรือการที่คุณไม่เคยได้รับแม้กระทั่งสัญญาณจากเจ้านายแม้แต่น้อยเลยว่าคุณก็เป็นคนสำคัญคนหนึ่งของบริษัทเหมือนกัน
หากพบว่ามันเป็นเช่นนั้นนั่นย่อมหมายความว่าแสงสว่างในอาชีพที่คุณกำลังทำอยู่นั้นมันช่างริบหรี่ซะเหลือเกิน
5.ทัศนคติของนายไม่เคยตรงกับเรา
เหตุผลอันดับแรกๆของการเปลี่ยนงานก็คือ ทัศนคติไม่ตรงกับเจ้านาย
ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งก็ตามทีคุณไม่เคยมีความเห็นตรงกันกับเจ้านายเลย
ไม่ว่าเรื่องใดๆก็ตามคุณรู้สึกว่าเจ้านายมีแต่จะคอยขัดแย้งกับความเห็นที่คุณเสนอทุกครั้งไป
เจ้านายชอบคอยจ้องจับผิด คอยจับตามองคุณทุกฝีก้าวจนทำให้คุณรู้สึกอึดอัดที่ต้องทำงานที่นี่
เจ้านายชอบตำหนิคุณกลางที่ประชุม หรือชอบต่อว่าคุณต่อหน้าเพื่อนร่วมงาน
จนทำให้คุณรู้สึกอับอายขายหน้า
ผมคิดว่าวิธีเดียวที่จะหลีกหนีจากเหตุการณ์แบบนี้ได้ก็คือเปลี่ยนงานครับ
6.ความไม่เข้ากันระหว่างชีวิตกับงาน
ในบางครั้งความแตกต่างระหว่างนิสัยหรือความชอบส่วนตัวของคุณ กับนโยบายของบริษัทที่กำหนดเป็นกฏระเบียบสำหรับพนักงานนั้นอาจขัดแย้งกัน มันก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณว่าจะเลือกเปลี่ยนไปตามน้ำหรือจะต่อต้านมัน แต่บางทีสิ่งที่แตกต่างมันอาจจะเป็นแค่สไตล์การทำงานที่ไม่เหมาะสมกับที่ทำงานของคุณแค่นั้นเอง หรือบางทีวัฒนธรรมบางอย่างของบริษัทมันก็ขัดแย้งกับสิ่งที่คุณเป็นซะเหลือเกิน แต่หากคุณรู้จักเปิดใจให้ยอมรับและทำตามอย่างเต็มใจปัญหามันก็จะไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่มันเป็นปัญหาคาใจ ที่ทำให้คุณรู้สึกต่อต้านอยู่ลึกๆ จนทำให้คุณรู้สึกอึดอัดแล้วล่ะก็ ผมว่าคุณเตรียมพร้อมหางานใหม่เลยดีกว่าครับ
สรุปคือปัญหาดังกล่าวข้างต้นสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทำงานทุกคน
เพียงแต่ว่ามันจะมากหรือน้อยหรือรุนแรงแตกต่างกันไป
มันขึ้นอยู่กับว่าใครพร้อมที่จะเผชิญหน้ารับมือและปรับตัวได้ดีกว่ากันเท่านั้นเอง
และหากคุณรับมันไม่ได้จริงๆ ทางออกเดียวคงมีแต่การหางานใหม่แน่ๆครับ
ขอบคุณภาพประกอบจาก http://www.legaljuice.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น