หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2556

รับมือหน้าฝนแบบคนไกลโรค




เมื่อความคิดถึง มาพร้อมกับฝน ห่วงหาใครบางคน เมื่อฝนเป็นสาย ไม่รู้เลยว่าเธอ ติดฝนอยู่ไหน จะเปียกฝนหรือเปล่า กังวลอยู่นะ ฝากความคิดถึง กลับไปกับฝน ส่งถึงใครบางคน ให้เธอได้รู้ว่า ให้เธอรีบกลับมา อย่าลืมว่ามีคนห่วงใย 
ข้างต้นคือเนื้อเพลงบางส่วนของเพลง คิดถึงนะ จากแพรว คณิตกุล เนตรบุตร เรื่องราวเกี่ยวกับสายฝนกับใครอีกคนที่อาจจะอยู่แสนไกล ใช่แล้วครับ หน้าฝนกำลังหมุนเวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่ง ฤดูกาลแห่งตวามชุ่มฉ่ำ เปียกปอน เลอะเทอะ เฉอะแฉะ ฯล ฤดูกาลแห่งความเหงาเข้าปกคลุม ฤดูกาลแห่งความคิดถึงกำลังเดินทางฝ่าสายฝนไปหาใครบางคน ฯล ฤดูกาลที่หลายๆคนชอบและอีกหลายๆคนไม่ชอบ ด้วยเหตุและผลที่ต่างกันไป แต่ถึงจะชอบหรือไม่ชอบอย่างไร ในความเป็นจริง เราคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงกฏแห่งธรรมชาติไปได้  แต่ว่าเรายังสามารถปรับตัวให้อยู่ร่วมกับฤดูฝนได้อย่างมีความสุขและปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บครับ
ในช่วงหน้าฝนนี้ ผมมีวิธีง่ายในการดูแลสุขภาพในช่วงหน้าฝนมาฝากกันครับ มีโรคภัยไข้เจ็บอะไรบ้างที่มาพร้อมกับหน้าฝน มีวิธีการแพร่เชื้อหรือสามารถติดด่อได้ด้วยวิธีการใดบ้าง และเรามีวิธีในการระมัดระวังป้องกันได้อย่างไรบ้าง เพื่อเป็นการดูแลตัวเองรวมไปถึงบุคคลที่เรารักและบุคคลในครอบครัวของเรา ลองมาดูกันครับ
1.กลุ่มโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
เป็นเพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย  ทั้งร้อนจัดและมีฝนตกในบางวัน จึงอาจทำให้ผู้คนป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะโรคไข้หวัด ทั้งหวัดธรรมดาและไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรียที่สะสมอยู่ในอากาศ แถมยังติดต่อกันได้ง่ายๆเพียงแค่การไอ จาม หรือมือที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ การใช้สิ่งของร่วมกัน
ดังนั้นเพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายสู่ผู้อื่น เราควรใช้ผ้าปิดปากและจมูกเมื่อเวลาไอ จาม หรือจะสวมหน้ากากอนามัยก็เป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด และที่สำคัญ อย่าลืมหมั่นล้างมือบ่อย ๆ เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่เราอาจจะไปสัมผัสมาโดยไม่รู้ตัว และเป็นการป้องกันไม่ให้เราแพร่เชื้อโรคไปสู่ผู้อื่นอีกทางหนึ่ง
2.กลุ่มโรคที่เกี่ยวกับน้ำและอาหาร
โรคในกลุ่มนี้ที่พบบ่อยในหน้าฝนคือ โรคท้องเดิน โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน บิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษและ ตับอักเสบ เป็นต้น ซึ่งสาเหตุหลักๆมักเกิดจากรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ รวมทั้งการรับประทานอาหารแบบสุก ๆ ดิบ ๆ หรือใช้น้ำที่ไม่สะอาดเพียงพอในประกอบอาหาร และยังรวมถึงการรับประทานอาหารที่เก็บไว้นานข้ามมื้อหรือเกิน 6 ชั่วโมงขึ้นไป เช่น อาหารปรุงสำเร็จที่ทำในปริมาณมาก หรืออาหารที่จัดเก็บไม่ถูกวิธี ก็อาจจะบูดเสียได้ง่าย ๆเช่นกันครับ เพราะฉะนั้นเราควร
- รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ ไม่มีแมลงวันตอม ไม่ควรทานอาหารค้างคืน ถ้าจำเป็นควรอุ่นให้ร้อนอีกครั้งก่อนรับประทาน
- ดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำที่ต้มแล้ว หรือน้ำบรรจุขวดที่มี อย.รับรองคุณภาพ
- ก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง ควรล้างมือให้สะอาดเป็นนิสัย
- ขับถ่ายอย่างถูกลักษณะ และล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังขับถ่าย
3.โรคฉี่หนู หรือเลปโตสไปโรซิส
เพราะมีชื่อเรียกว่า โรคฉี่หนู เลยทำให้หลายๆท่านเข้าใจผิดว่า โรคฉี่หนูมีพาหะคือ "หนู" เท่านั้น แต่จริง ๆ แล้ว พาหะของโรคฉี่หนู มีได้ทั้งสัตว์เลี้ยงทั่วไป เช่น สุนัข สุกร โค กระบือ รวมทั้งสัตว์ป่า โดยเชื้อเหล่านี้จะปะปนอยู่ในน้ำ และสิ่งแวดล้อมในที่ที่มีน้ำท่วมขัง หากเราไปสัมผัสถูกต้องเข้า เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ร่างกายโดยผ่านทางบาดแผล รอยขีดข่วน เยื่อบุจมูก เยื่อบุตา เยื่อบุในช่องปากได้ง่าย ๆ อาการที่เด่นชัดของโรคนี้คือ หลังได้รับเชื้อประมาณ 1-2 อาทิตย์ จะมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ มักปวดกล้ามเนื้อบริเวณน่องและโคนขาอย่างรุนแรง และตาแดง คอแข็ง สลับกับไข้ลดและหากเป็นมากอาจมีจุดเลือดออกที่เพดานปาก หรือตามผิวหนัง ร้ายแรงจนกระทั่งตับวาย ไตวายได้เลยทีเดียว
วิธีการการป้องกันโรคฉี่หนูเบื้องต้น เราควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับน้ำสกปรกโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีบาดแผลที่เท้า หากต้องเดินย่ำน้ำที่ท่วมขังควรสวมรองเท้ายาง  หลังจากการสัมผัสกับน้ำสกปรก ควรรีบชำระล้างด้วยน้ำสบู่และเช็ดให้ผิวหนังแห้งอยู่เสมอ หมั่นทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้สะอาด ควบคุมและกำจัดหนู และหลีกเลี่ยงอาศัยอยู่ใกล้บริเวณที่มีสัตว์เลี้ยงที่อาจเป็นพาหะของโรค
4.โรคน้ำกัดเท้า
กลุ่มเสี่ยงต่อโรคนี้คือ คนที่ต้องเดินในแหล่งน้ำ ลุยน้ำสกปรกนานๆ เช่น คนที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง หรือต้องลุยน้ำขังในช่วงฝนตก โดยเชื้อราจะทำให้ผิวหนังซอกนิ้วเท้าแดง ขอบหนานูนเป็นวงกลม และคันตามซอกนิ้วเท้าและผิวหนัง ลอกออกเป็นขุยๆเป็นผื่นที่เท้า ผิวหนังที่เท้าเกิดพุพอง  นิ้วเท้าหนาและแตกที่เป็นมากและพบบ่อยจะเกิดตรงซอกนิ้วแต่บางทีก็สามารถเกิดที่ส้นเท้าได้เช่นกัน
ถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการเดินในที่ที่มีน้ำขัง หรือน้ำท่วมนานๆ แต่หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ดีที่สุดคือสวมรองเท้าบูท ควรรีบทำความสะอาดและเช็ดเท้าให้แห้ง โดยเฉพาะซอกนิ้วเท้าหลังจากขึ้นจากน้ำทุกครั้ง ควรใส่ถุงเท้าและรองเท้าที่แห้ง การใส่ถุงเท้าที่ทำด้วยขนสัตว์จะดีกว่าผ้าฝ้ายเพราะผ้าขนสัตว์ช่วยซับความชื้นได้ดีกว่า ถ้ารองเท้าเปียกควรเปลี่ยนรองเท้า ควรมีรองเท้า 2 คู่ ใส่สลับกัน ไม่ควรใส่รองเท้าคู่เดิมทุกวัน และหากพบว่าผิวหนังเริ่มเปื่อย เกิดตุ่มคัน น้ำกัดเท้า หรือมีบาดแผล ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรักษาอาการดังกล่าวก่อนที่จะลุกลามจนทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน
5.โรคไข้เลือดออก 
พาหะนำโรคของไข้เลือดออกก็คือ "ยุงลาย" ซึ่งหากได้รับเชื้อประมาณ 5-8 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง (38.5-41 องศาเซลเซียส) ติดต่อกัน 2-7 วัน หน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก บางรายเบื่ออาหาร ปวดท้อง อาเจียน จากนั้นจะมีจุดแดงเล็ก ๆ ขึ้นตามลำตัว ในรายที่มีอาการรุนแรงจะเกิดภาวะช็อกหลังไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว ตัวเย็น ปากเขียว บางรายมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร ถ่ายเป็นเลือด หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันเวลา ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายใน 12-24 ชั่วโมง
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่ป้องกันไวรัสไข้เลือดออกอย่างได้ผลดีนัก  ดังนั้นการป้องกันโรคจึงต้องอาศัยการควบคุมการแพร่พันธุ์ของยุงลายและป้องกันไม่ให้ยุงลายกัดเป็นหลัก  วิธีการในการควบคุมการแพร่ระบาดของยุงลายคือการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยป้องกันไม่ให้มีน้ำขังในภาชนะต่างๆ เช่น คว่ำขัน กะละมัง ที่อยู่นอกบ้าน ไม่ให้มีน้ำขัง ใส่สารฆ่าแมลงหรือสารควบคุมการเจริญเติบโตของยุงลาย เช่น ทรายอะเบตในพื้นที่  ร่วมกับการพ่นยาฆ่าแมลงเป็นครั้ง ๆ นอกจากนี้ยังอาจสามารถป้องกันไม่ให้ยุงลายกัดได้โดยใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด นอนกางมุ้งหรือใช้สารขับไล่แมลงเป็นต้น
6.โรคเยื่อตาอักเสบ หรือโรคตาแดง
เยื่อบุตาอักเสบ คืออะไร เยื่อบุตา คือ เยื่อแผ่นบางๆ ครอบคลุมส่วนที่เป็นตาขาว และผลิตเมือกเพื่อเคลือบและหล่อเลี้ยงผิวของดวงตา เมื่อเยื่อบุตาเกิดการระคายเคืองหรือบวม เส้นเลือดบริเวณนั้นก็จะบวม และทำให้ตาค่อยๆ แดงขึ้น มีอาการคัน ในบางกรณีตาแดงเป็นสาเหตุที่ทำให้ตาบอดได้ มีอาการเจ็บตา สายตามัว ตาไม่สู้แสงเป็นอาการทั่วไปของโรคนี้ หากพบว่ามีอาการดังกล่าวควรพบจักษุแพทย์ให้เร็วที่สุด
โรคเยื่อบุตาอักเสบสามารถติดต่อกันได้จากน้ำตาผู้ป่วยดังนั้นในการป้องกันเราควรหลีกเลี่ยงการใช้ของใช้ร่วมกับผู้อื่น เช่นผ้าเช็ดหน้าและผ้าเช็ดตัว การล้างมือบ่อยๆ เป็นการช่วยลดการติดต่อของการอักเสบ ภูมิแพ้ และอาการระคายเคืองจากสภาพแวดล้อมซึ่งเป็นสาเหตุของตาแดงอีกทางหนึ่ง
7.อันตรายจากสัตว์มีพิษต่างๆ
ในช่วงที่ฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วม อาจมีสัตว์มีพิษต่างๆ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง หนีน้ำท่วมเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้านเรือน ซึ่งหากเราไม่ระมัดระวังก็อาจถูกสัตว์เหล่านี้กัด หรือต่อยได้ เพราะฉะนั้นควรดูแลรักษาความสะอาดบริเวณรอบๆบ้านและในบ้าน ควรจัดบ้านให้สะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่เสมอ  เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้สัตว์มีพิษเหล่านี้เข้ามาอยู่อาศัยได้ หรือเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงและแมลงอันไม่พึงประสงค์
8.โรคอาหารเป็นพิษจากเห็ดพิษ
ในช่วงหน้าฝนของทุกปีจะเป็นช่วงที่มีผู้ป่วยด้วยการรับประทานเห็ดพิษ ซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเป็นจำนวนมาก หากรับประทานเห็ดพิษเหล่านี้เข้าโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจล้มป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษ และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียวจากสถิติที่ผ่านมาของกรมควบคุมโรค พบว่า ชาวภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้เสียชีวิตจากการรับประทานเห็ดพิษมากที่สุด
วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ ไม่ควรเก็บเห็ดที่ไม่แน่ใจหรือเห็ดที่ไม่เคยมีใครนำมารับประทานมาปรุงอาหาร ควรเลือกรับประทานเฉพาะเห็ดที่แน่ใจแล้วเท่านั้น
และเพื่อสุขภาพที่ดีนั้น เราควรหมั่นรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และอบอุ่นอยู่เสมอ โดยการออกกำลังกายอย่างเป็นประจำ  ดื่มน้ำและรับประทานอาหารที่ปรุงสุกสะอาด ทำจิตใจให้แจ่มใส พักผ่อนให้เพียงพอ เท่านี้ร่างกายของเราก็จะมีภูมิต้านทานเพียงพอที่จะต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ ที่จะเข้าสู่ร่างกายของเราได้แล้ว ขอให้มีความสุขกับหน้าฝนและอย่าลืมรักษาสุขภาพกันด้วยนะครับ ...
ขอบคุณภาพประกอบจาก http://ffffound.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น