หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เที่ยวหน้าฝน@อุบลราชธานี ตอน แห่เทียนพรรษา เฮฮากับเพื่อนเก่า

วันที่ 23 กรกฏาคม 2556 เช้านี้สภาพอากาศยังคงเหมือนเดิม ท้องฟ้าฉ่ำน้ำพร้อมจะตกลงมาได้ทุกเมื่อ แต่เป็นความตั้งใจแล้วครับอย่างไรก็ต้องเดินทางไปปัญหาไว้ค่อยแก้เอาข้างหน้าอีกที วันนี้เรามีโปรแกรมไปเที่ยวชมงานแห่เทียนพรรษาของเมืองอุบลฯกัน และในภาคบ่ายผมก็ได้นัดหมายกับเพื่อนรุ่นน้องที่เคยทำงานด้วยกัน(คุณโอวาทและคุณอ้อย) ไว้ว่าจะแวะไปเยี่ยมหลานที่บ้านและรบกวนข้าวสักมื้อกับที่นอนสักคืน หลังจากทานอาหารเช้าแบบง่ายๆกันที่บ้านเรียบร้อย พวกเราจึงออกเดินทางกันด้วยพาหนะคันเดิม BT50 PRO ของพี่สมปองและภรรยา พร้อมด้วยคณะเด็กๆจากเมื่อวานยังตามมากันครบ เราออกเดินทางจากศรีเมืองใหม่กันตอนเกือบๆ 9 โมงเช้าอากาศไม่ร้อนเ่ท่าไหร่แต่กลัวฝนจะตกมากกว่า กลุ่มเด็กๆนั่งเฮฮากันอยู่กระบะท้าย พวกเราใช้เส้นทาง โขงเจียม-ตระการพืชผล โดยวิ่งย้อนกลับมาทาง อ.ตระการพืชผล ก่อนเลี้ยวซ้ายสู่ตัวจังหวัดอุบลราชธานี ระยะทางโดยรวมไกลพอสมควรเหมือนกันแต่ตลอดเส้นทางฝนยังไม่ตกครับ ไม่นานเราก็เข้าสู่ตัวจังหวัดอุบลฯ มุ่งหน้าไปยังสวนสาธารณะทุ่งศรีเมืองซึ่งใช้จัดงานแห่เทียนพรรษา รถหนาแน่นพอสมควรแต่เราก็ยังพอหาที่จอดรถได้ในวัดใกล้ๆกับสถานที่จัดงานชื่อวัดทุ่งศรีเมืองครับ ไม่นานเราก็มาเดินปะปนกับนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ซึ่งมาชมการแห่เทียนพรรษาเหมือนกัน ขบวนแห่กำลังเริ่มต้นพอดีตามมาชมกันเลยครับ (ภาพอาจจะไม่เรียงนะครับ เพราะว่านำมาจัดเรียงใหม่ตามความเหมาะสม)


ก่อนจะไปเที่ยวชมขบวนเทียนพรรษา เรามาสักการะศาลหลักเมืองของจังหวัดอุบลราชธานีกันก่อนดีกว่าครับ ศาลหลักเมืองนี้ตั้งอยู่บนถนนศรีณรงค์ ทางทิศใต้ของทุ่งศรีเมืองและอยู่ทางทิศเหนือของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี


สัญลักษณ์ประจำจังหวัดของจังหวัดอุบลราชธานีอีกอย่างหนึ่ง แท่งเทียนพรรษายักษ์กลางสนามทุ่งศรีเมือง สร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 ถ้าไม่ได้เห็นถือว่ามาไม่ถึงจังหวัดอุบลฯครับ จากนี้ผมก็จะพาดูภาพถ่ายของขบวนเทียนพรรษาจากวัดต่างๆในจังหวัดอุบลฯ (ที่จริงแล้วถ่ายไว้ค่อนข้างเยอะแต่ขอนำเสนอเพียงบางส่วนเท่านั้น ถ้านำเสนอทั้งหมดมันจะยาวไปครับ) พร้อมกับแทรกเกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของการแห่เทียนพรรษาของเมืองอุบลฯไปด้วย พร้อมแล้วตามมาเลยครับ


วันเข้าพรรษา คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติหรืออยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคมแล้วนับไปอีก 3 เดือนก็จะเป็นวันออกพรรษา ซึ่งจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรืออยู่ในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี เมื่อพระต้องหยุดพักฝนหรือหยุดเข้าพรรษาทำให้พระมีเวลาศึกษาหาความรู้โดยเฉพาะการอ่านหนังสือ เวลาอ่านหนังสือให้เข้าใจและจดจำได้ดีที่สุดคือเวลากลางคืน ซึ่งเป็นช่วงที่เงียบสงบทำสมาธิได้ง่าย ในสมัยก่อนยังไม่มีไฟฟ้าเวลาพระจะอ่านหนังสือจึงจุดเทียน เมื่อชาวบ้านทราบจึงทำเทียนไปถวายพระ โดยเฉพาะการถวายในวันเข้าพรรษา ซึ่งถือว่าได้บุญกุศลมากยิ่งนัก นั่นคือจะทำให้ชีวิตของผู้ถวายมีความสุขสบาย สว่างไสว ไม่มืดมน หรืออีกนัยหนึ่งเป็นผู้มีปัญญา มีความรู้ เฉลียวฉลาดนั่นเอง ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า Bright การถวายเทียนแด่พระในวันเข้าพรรษาจึงเป็นประเพณีของชาวพุทธมาแต่โบราณกาลนับเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แต่ในปัจจุบันชาวบ้านสมัยใหม่จะนิยมถวายหลอดไฟฟ้าแทน เพราะมีความสว่างมากกว่าเทียน ใช้งานง่าย สะดวก และได้บุญกุศลมากเช่นกัน


ชาวอุบลฯก็เหมือนกับชาวพุทธสานิกชนโดยทั่วไปครับ เมื่อถึงวันเข้าพรรษาก็จะนำเทียนพรรษาไปถวายที่วัด ในสมัยก่อนยังไม่มีเทียนสำเร็จรูปขาย ชาวบ้านจะใช้ขี้ผึ้งซึ่งได้จากรังผึ้งมาต้มให้ละลายแล้วเอาฝ้ายที่จะทำเป็นไส้เทียนจุ่มลงไปในน้ำผึ้งที่ละลายนั้น จากนั้นปล่อยให้เย็นพอที่จะเอามือคลึงให้ขี้ผึ้งโอบล้อมไส้เทียนให้เต็ม (วิธีการแบบนี้ชาวอุบลฯ เรียกว่า ฟั่นเทียน”) จากนั้นนำมาตัดตามขนาดที่ต้องการ เสร็จเรียบร้อยก็กลายเป็นเทียนพรรษาที่พร้อมนำไปถวายวัดได้ครับ


การนำเทียนพรรษาไปถวายวัดของชาวอุบลฯในสมัยก่อน ก็ไม่ได้มีการแห่แหนหรือการประกวดประขันกันอย่างทุกวันนี้ เป็นแต่เพียงการถวายเทียนพรรษาพร้อมกับเครื่องไทยธรรมไทยทานอื่นๆ รับศีลรับพรจากพระ เสร็จพิธีแล้วก็ลากลับบ้านเท่านั้นเองครับ ส่วนสาเหตุที่การถวายเทียนจะต้องมีการแห่แหนและมีการประกวดประขันนอย่างทุกวันนี้ เล่ากันว่าเริ่มมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ เมื่อครั้งที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ได้เป็นข้าหลวงใหญ่มาปกครองมณฑลลาวกาว ซึ่งมีที่ตั้งมณฑลอยู่ที่เมืองอุบลฯ ได้เห็นการบาดเจ็บล้มตายของชาวบ้านจากงานประเพณีบุญบั้งไฟ ซึ่งมีทั้งบาดเจ็บล้มตายเพราะบั้งไฟระเบิดหรือตกใส่บ้านเรือน หรือบาดเจ็บล้มตายเพราะการทะเลาะวิวาทตีรันฟันแทงเพราะความเมามายในสุรา หรือบางครั้งเพราะการละเล่นโคลนตมที่สนุกสนานเกินเลย หรือการละเล่นตุ๊กตาไม้ในท่าทางร่วมเพศตามแบบฉบับของงานบุญบั้งไฟ เรื่องต่างๆ เหล่านี้พระองค์ท่านทรงเห็นว่าเป็นเรื่องไม่ดีไม่งาม จึงให้ยกเลิกการจัดงานบุญบั้งไฟและให้เปลี่ยนเป็นการแห่เทียนพรรษาแล้วนำไปถวายวัดเป็นการทดแทน


เทียนพรรษา ในสมัยพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิ์ประสงค์นั้นจะเป็นการทำเทียนร่วมกันของชาวบ้านในแต่ละคุ้ม โดยการนำขี้ผึ้งมารวมกันต้มให้ละลายแล้วเทใส่เบ้าหลอม ตกแต่งให้สวยงามแล้วใส่คานหามหรือบรรทุกใส่เกวียน นำเข้าขบวนแล้วแห่ไปรวมกันที่หน้าศาลากลางมณฑล เมื่อทุกคุ้มมารวมพร้อมกันแล้ว พระองค์จะประทานรางวัลให้กับคุ้มที่ทำต้นเทียนได้สวยงาม เสร็จแล้วจะให้จับฉลากว่าคุ้มไหนจะถวายเทียนวัดอะไร เมื่อรู้ว่าจะไปถวายวัดอะไรแล้วแต่ละคุ้มก็จะแห่แหนไปถวายวัดนั้น การแห่เทียนพรรษาจึงเริ่มมีตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา


การทำเทียนพรรษาของชาวบ้านแต่ละคุ้มในระยะแรกนี้ จะเป็นเทียนที่สามารถจุดใช้งานได้จริง มีขนาดเท่ากับต้นไผ่ (เพราะใช้ต้นไผ่เป็นเบ้าหลอม) บางคุ้มก็จะเท่ากับต้นกล้วย แล้วแต่ว่าคุ้มไหนจะหาเบ้าหลอมและหาขี้ผึ้งได้มากน้อยแค่ไหน ผิวต้นเทียนจะเรียบมันไม่มีลวดลาย แต่จะแต่งต้นเทียนโดยใช้กระดาษสีตัดเป็นเส้นหรือเป็นลวดลาย แล้วนำมาพันรอบต้นเทียนหรือติดกับต้นเทียนเป็นกลุ่มลวดลายต่างๆ บางคุ้มก็จะใช้วิธีนำเทียนเล่มเล็กๆ มามัดรวมกันให้เป็นเทียนต้นใหญ่ หรือบางครั้งประหยัดเงินค่าเทียนก็จะใช้ไม้กลมๆ หรือไม้เสาทำเป็นแกนแล้วนำเทียนมัดรอบแกนเสา ตกแต่งด้วยกระดาษเพื่อไม่ให้เห็นเชือกที่มัด (วิธีนี้เริ่มขึ้นเมื่อมีเทียนสมัยใหม่และมีขายทั่วไปแล้ว จึงเป็นการประหยัดเวลาเพราะไม่ต้องต้มขี้ผึ้ง)


เมื่อเวลาผ่านไปหลายปีประกอบกับมีการแข่งขันให้รางวัล คุ้มที่ตกแต่งต้นเทียนได้สวยงามแปลกแตกต่างไปจากต้นเทียนคุ้มอื่น จึงมักจะได้รับรางวัลชนะเลิศอยู่เสมอ การประดับตกแต่งต้นเทียนแบบใหม่ๆ จึงเกิดขึ้น นั่นคือจากเดิมที่ใช้กระดาษติดเป็นลวดลายต่างๆ ก็เปลี่ยนเป็นการใช้ขี้ผึ้งหล่อลวดลายจากแบบพิมพ์ก่อนแล้วจึงนำไปติดที่ต้นเทียน ซึ่งจะทำให้ต้นเทียนมีความสวยงามกว่าติดด้วยกระดาษ ต้นเทียนคุ้มที่ตกแต่งแบบนี้จึงมักจะได้รับรางวัลชนะเลิศอยู่เสมอๆ เช่นเดิมครับ เมื่อเวลาผ่านไปอีกหลายปีการตกแต่งแบบติดพิมพ์ด้วยเทียนก็ซ้ำซากจำเจ คุ้มที่อยากชนะจึงต้องหาวิธีตกแต่งต้นเทียนที่แปลกแตกต่างออกไป การแกะสลักลงไปในเนื้อต้นเทียนให้เป็นรูปและลวดลายต่างๆจึงเกิดขึ้น และคุ้มที่จัดทำแบบนี้ก็ได้รับชัยชนะ เมื่อการตกแต่งต้นเทียนให้สวยงามมีวิธีการแตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการแบ่งประเภทต้นเทียนและให้มีรางวัลชนะเลิศแต่ละประเภทเกิดขึ้น ต้นเทียนในเวลาต่อมาจึงมีสองแบบ คือ แบบติดพิมพ์และแบบแกะสลักครับ


อย่างไรก็ตามทั้งสองแบบก็ยังเป็นแต่เพียงต้นเทียนอย่างเดียว ไม่มีองค์ประกอบอื่นมากมายนัก โดยเฉพาะฐานต้นเทียนก็เป็นฐานที่ทำขึ้นเพื่อไม่ให้ต้นเทียนล้มเท่านั้น คุ้มที่อยากชนะจึงต้องหาวิธีตกแต่งที่แตกต่างออกไปอีกเช่นเดิม ด้วยเหตุนี้การตกแต่งฐานต้นเทียนให้แปลกแตกต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะการตกแต่งให้เป็นรูปลอยตัว ทำเป็นรูปของสัตว์ในวรรณคดีต่างหรือเรื่องราวทางพุทธประวัติ ในอากัปกริยาต่างๆก็เกิดขึ้น เช่นเดิมคุ้มที่จัดทำแบบนี้ก็ชนะ และถ้าคุ้มอื่นทำตามคุ้มที่อยากชนะในปีต่อไปก็จะต้องทำให้แปลกแตกต่างๆหรือไม่ก็ทำให้ใหญ่หรือให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ จนเป็นเรื่องราวเหตุการณ์ทางวรรณคดีหรือทางพุทธประวัติที่ครบสมบูรณ์ในต้นเทียนต้นเดียวหรือขบวนเดียว ผู้ชมดูแล้วเพลิดเพลิน ได้ความรู้ ได้อรรถรส อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบันครับ


ด้วยต้นเทียนและการแห่เทียนพรรษาของเมืองอุบลฯ มีมานานนับร้อยปี จึงมีวิวัฒนาการมากมายหลายแบบหลายมิติดังที่กล่าวมา จากการแห่เทียนธรรมดาที่เรียบง่ายเป็นการแห่เทียนที่มีการร้องรำทำเพลงและการแสดงต่างๆมากมายเข้ามาประกอบร่วม จากการรวมกลุ่มร่วมมือร่วมแรงของชาวบ้านคุ้มต่างๆ ในราคาถูกเป็นการจัดทำของกลุ่มชาวบ้านกลุ่มพ่อค้าและข้าราชการต่างๆที่มีราคาแพง จากการแบกหามบรรทุกใส่เกวียนเป็นการบรรทุกใส่รถ จากรถคันเล็กเป็นรถคันใหญ่ จากรถคันใหญ่เป็นรถหลายคัน จากรถคันสั้นเป็นรถคันยาว จากรางวัลเพียงไม่กี่บาทก็เป็นรางวัลหลายแสนบาท จากการดำเนินงานตามลำพังของจังหวัดอุบลฯ ก็เป็นการดำเนินงานร่วมกันกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จากที่ไม่มีนักท่องเที่ยวก็มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ วิวัฒนาการมากมายหลายแบบหลายมิติเช่นนี้ ด้วยเพราะความอยากให้ต้นเทียนมีความแปลกแตกต่าง มีความสวยงาม มีความยิ่งใหญ่และจุดมุ่งหมายสำคัญก็เพื่อชัยชนะและชื่อเสียงครับ


ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งจากภาคราชการ เอกชน และชาวบ้านคุ้มต่างๆ ในวันนี้ ประเพณีการแห่เทียนพรรษาของเมืองอุบลฯจึงนำมาซึ่งเกียรติยศ ชื่อเสียง ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ สังคม และศิลปวัฒนธรรม ด้วยเหตุนี้เมืองอุบลราชธานีจึงเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวและผู้คนทั่วไปทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจของชาวอุบลฯอย่างยิ่ง


หนึ่งในขบวนเทียนพรรษาที่สวยงามแปลกตา ด้วยสีสันและกลิ่นหอมของต้นเทียนและเครื่องประกอบทั้งหมด ต้นเทียนหอมของวัดเมืองเดช อ.เดชอุดม ผมพิสูจน์แล้วว่าหอมจริงๆครับ เพราะว่าทำจากเทียนหอมทั้งขบวน รู้สึกว่าปีนี้จะได้รางวัลที่สามด้วย


ลีลานางไหคนสวยร่ายรำตามจังหวะดนตรีโปงลางสนุกสุดตัวจริงๆครับ


ขบวนนี้ใช้เทียนสีเหลืองทองมองเห็นเด่นมาแต่ไกลเลยครับ


ทีมงานผู้สร้างคงต้องใช้ทั้งแรงกาย แรงใจและฝีมือบวกกับความปราณีตและใจเย็นเป็นอย่างสูง กว่าจะได้งานสวยๆแบบนี้ออกมาให้เราได้ชมกัน ขบวนนี้เป็นของวัดกลางครับ


ขบวนนี้ก็สวยงามไม่แพ้กัน แต่ผมก็ยังแยกประเภทไม่ออกอยู่ดีครับ ว่าขบวนไหนเป็นประเภทติดพิมพ์หรือประเภทแกะสลัก


สาวงามเมืองอุบลฯครับ


ขบวนนี้ใช้ชื่อว่า ยินดีต้อนรับประชาคมอาเซียนครับ


แม้อากาศจะค่อนข้างร้อนและมีฝนตกโปรยปรายบางเป็นจังหวะ แต่ก็ไม่อาจลบรอยยิ้มด้วยความภาคภูมิใจในหน้าที่ออกจากใบหน้าเธอได้


เมื่อลองพิจารณาดูใกล้ๆแล้ว สามารถเห็นถึงความละเอียดอ่อนช้อยของลวดลายที่ถูกสร้างและประกอบเข้าด้วยกันอย่างสวยงาม ผมว่าคงใช้เวลามานานนับแรมเดือนเลยทีเดียวกว่าจะลุล่วง เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบแล้ว คิดว่าขบวนนี้น่าจะเป็นพระพุทธเจ้าน้อยนะผมว่า



หอไตรกลางน้ำกลางน้ำของวัดทุ่งศรีเมืองครับ จากหลักฐานเล่ากันว่าเมื่อขุดสร้างหอไตรแล้ว ปรากฎว่าดินที่จะนำมาพูนหอพระบาทยังไม่พอ จึงได้ขุดสระอีก 1สระทางด้านทิศตะวันตกของวัด สระนี้เรียกว่าสระหนองหมากแซว เพราะมีต้นหมากแซวใหญ่ต้นหนึ่งอยู่ข้างสระขุดลึกประมาณ 3 เมตรกว้างและยาวพอๆ กับสระหอไตร (ปลายสมัยหลวงปู่พระครูวิโรจน์รัตนโนบล เป็นเจ้าอาวาสได้ปูกระเบื้องซีเมนต์ที่ลานหอพระบาท และได้สร้างกำแพงแก้ว ล้อมรอบที่ซุ้มประตูด้านทิศเหนือ, ใต้และทิศตะวันตก ส่วนทางทิศตะวันออก ได้สร้างภายหลัง และได้สร้างให้มีขนาดใหญ่ที่สุด เพราะเป็นทางเข้าและอยู่หน้าหอพระบาท)เมื่อพระอริยวงศาจารย์ฯ สร้างหอพระพุทธบาทเสร็จแล้ว ก็ได้สั่งให้ญาคูช่าง สร้างหอไตรที่สระกลางน้ำ โดยมีจุดประสงค์ ใช้เป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก คือ คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา และปรัชญาพื้นบ้าน รวมถึงตำราต่าง ๆ มากมาย ส่วนมากเป็นหนังสือใบลานจารึกด้วยอักษรธรรมและสมุดข่อย ไม่ให้แห้งและกรอบและเพื่อกันปลวก มิให้ทำลายพระไตรปิกฎให้เสียหาย (ก่อนที่พระราชรัตนโนบลมาปกครองวัด พระไตรปิฎกได้สูญหายไปมากแล้ว) เมื่อได้สร้างหอพระพุทธบาทและหอไตรกลางน้ำเสร็จแล้ว ก็ได้สร้างกุฎิเป็นที่อยู่ของพระภิกษุและสามเณร เพราะวัดนี้ตั้งอยู่ปลายทุ่ง ท่ามกลางเมืองอุบลราชธานี จึงได้ชื่อว่า ทุ่งศรีเมือง เป็นเหตุให้ทุ่งนากลางเมืองอุบลราชธานี ได้ชื่อว่า ทุ่งศรีเมืองตามไปด้วยครับ



หลังจากเราเดินชมต้นเทียนกันจนเหนื่อยจึงตกลงกันว่าจะเดินทางกลับ ก่อนกลับพวกเราแวะไปซื้อของฝากกันที่ร้านตองหนึ่ง ร้านของฝากชื่อดังของเมืองอุบลฯ ร้านไม่ใหญ่แต่คนรอซื้อเยอะมาก (คงอร่อยจริงๆ)แต่ก็หาที่จอดยากพอๆกัน ที่นี่ผมก็ซื้อของฝากนิดหน่อยฝากติดรถไปกับพี่สมปอง เพราะว่าวันนี้ผมไม่ได้กลับด้วย เราแยกจากกันที่ร้านของฝากนั่นเองนัดเจอกันอีกทีพรุ่งนี้เช้า 9 โมงที่บ้านพี่เค้า ส่วนผมก็โทรหาเพื่อนให้แวะมารับที่หน้าร้านของฝาก จากนั้นก็เถลไถลไปนั่งจิบกาแฟโบราณรออยู่ที่"ร้านโบราณจัง" ไม่ห่างจากร้านตองหนึ่งเท่าไหร่ กาแฟโบราณหอมหวานชื่นใจทานคู่กับขนมปังปิ้งหอมๆช่วยคลายร้อนได้ดีจริงๆ  ไม่นานนักคุณโอวาทแกก็มาถึงหน้าร้านพร้อมด้วยมอเตอร์ไซค์คู่ชีพ พาผมไซค์เลี้ยวลัดเลาะฝ่าขบวนต้นเทียนไปไม่นานก็ถึงบ้านของเขา หลังจากทักทายคุณแม่และญาติรวมถึงน้องอ้อยกับน้องกานต์หลานชายสุดหล่อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็เลยถือโอกาสรับประทานอาหารกลางวันแบบง่ายๆร่วมกับคุณแม่ที่นั่นซะเลย น้ำพริก ผักสด ผักต้ม ปลานึ่ง น้ำจิ้มแจ่ว ข้าวเหนียวร้อนๆ สุดยอดมากครับมื้อนี้ หลังจากอาหารกลางวันเรียบร้อยแล้ว คุณโอวาทแกหาเรื่องก็พาผมออกทัวร์ชมบรรยากาศรอบที่พักของเขาทันที แต่จริงๆแล้วตั้งใจหาเรื่องออกมาเติมแอลกอฮอล์กันมากกว่า 55 (นี่ไงครับหลานผม หล่อมั้ย)



เริ่มกันที่บ้านของเจ้าเอ๊กซ์รุ่นน้องที่เคยอยู่ชลบุรีด้วยกัน แต่ไม่เจอครับเพราะว่าน้องเค้าไปช่วยงานแห่เทียนอยู่เหมือนกัน ที่บ้านของเจ้าเอ๊กซ์นั้นก็ทำงานประเภทเครื่องปั้นดินเผาครับ จำพวกกระถางรองขาโต๊ะ ครกเป็นส่วนใหญ่ มาถึงนั่งได้ไม่นานฝนก็เทลงมาอย่างหนักทีเดียว งานเข้าซะแล้วครับไปไหนไม่ได้เอาไงดีหว่า ตกลงว่าคุณโอวาทแกก็ใจดีขันอาสาฝ่าสายฝนไปจัดหาเครื่องดื่มแก้หนาวมาจัดกันซะที่นั่นเลย กว่าฝนจะหยุดกว่าเจ้าเอ๊กซ์จะกลับมาถึงก็หมดไปครึ่งโหลแล้ว หลังจากฝนหยุดพวกเรานัดหมายกับเจ้าเอ๊กซ์ให้ไปกินข้าวกันที่บ้านคืนนี้ ส่วนพวกเราก็ออกเดินทางกันต่อครับแต่ไม่ได้ถ่ายรูปแล้วเพราะฝนยังตกปรอยๆอยู่ ก็เลยเลือกแวะไปดูที่นาของคุณโอวาทเค้า และที่นี่เองคุณโอวาทแกไปได้ปลาช่อนนามาตัวนึงเกือบเท่าแขนสำหรับกับแกล้มเย็นนี้ หลังจากขับรถหิ้วปลาช่อนเที่ยวกันแถวๆนั้นสักพักก็กลับบ้านกันตอนมืดๆพอดี โอวาทแกก็ทำกับแกล้มไปส่วนผมก็นั่งกินไปรอปลาช่อนต้มยำไปไม่นานกับแกล้มก็เสร็จเรียบร้อย เจ้าเอ๊กซ์ก็มาถึงพอดีแต่ไม่กินเบียร์เพราะเข้าพรรษาอยู่ เหลือผมสองคนกินไปคุยกันไปจนเกือบๆเที่ยงคืนจึงอาบน้ำอาบท่าแยกย้ายกันไปพักผ่อน บนที่นอนอันแสนอบอุ่นที่น้องอ้อยเธอจัดมาให้ หลับสบายท่ามกลางสายฝนที่ตกพรำๆทั้งคืน 
สรุปแล้ว งานประเพณีการแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2556 ผมว่าทีมงานก็จัดได้อย่างยิ่งใหญ่ สวยงามเลยทีเดียวครับ (ตามความรู้สึกของผมนะ) มีข้อท้วงติงเพียงนิดหน่อยครับ ในระหว่างขบวนแห่กำลังดำเนินไป ฟ้าฝนไม่ค่อยเป็นใจคอยพรมมาเป็นระยะๆ ยิ่งทำให้อากาศค่อนข้างร้อนอบอ้าวไปใหญ่ สงสารผู้ที่อยู่ในขบวนแห่ครับจะหลบจะหนีก็ไม่ได้อย่างไรก็ต้องทน และขบวนเทียนบางขบวนมีความสูงมากกว่าสายไฟที่พาดข้ามถนน ทำให้ทีมงานต้องคอยใช้ไม้ค้ำเพื่อให้ขบวนเทียนผ่านไปได้ ตรงนี้เองครับที่ทำให้เสียบรรยากาศในการชมและการถ่ายภาพของบรรดาตากล้องทั้งหลาย ซึ่งปัญหาตรงนี้เองทางคณะผู้จัดงานควรจะต้องทราบและแก้ทำการแก้ปัญหาไว้ล่วงหน้าแล้ว แต่อย่างไรก็ตามทุกๆอย่างผ่านไปได้ด้วยดี โดยรวมแล้วผมรู้สึกประทับใจครับที่ได้มีโอกาสร่วมอยู่ในขบวนแห่แบบใกล้ชิด ถ้ามีโอกาสปีหน้าก็ยังอยากกลับมาร่วมงานอีกครั้งครับ

สุดท้ายต้องขอขอบคุณข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา ของการแห่เทียนพรรษาเมืองอุบลฯจากเวปไซต์  www.ubonguide.org ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ รวมทั้งคุณพี่สมปองและครอบครัวที่ให้การดูแลผมเป็นอย่างดีตลอดการเดินทาง ครอบครัวบุญสุขโดยคุณโอวาทและน้องอ้อยรวมทั้งหลานกานต์ด้วยครับที่เป็นภาระเรื่องอาหารการกินและที่หลับที่นอนในเมืองอุบลฯตลอดครึ่งวันกับอีกหนึ่งคืน และที่ลืมไม่ได้ก็ต้องขอบคุณผู้อ่านทุกๆท่านที่ติดตามกันมาตั้งแต่ต้นจนจบตอน ติดตามกันต่อไปใน"เที่ยวหน้าฝน@อุบลราชธานี ตอน ตลาดชายแดนแดนช่องเม็ก โขงเจียม"ครับ...