กระแสข่าวมาแรงแซงทางโค้งทุกเรื่องจนตกขอบบนสื่อสังคมออนไลน์ทุกแขนง คงหนีไม่พ้นเรื่องของ การที่มีนักวิชาการท่านหนึ่งออกมาเสนอแนวคิด ให้มีการเรียกเก็บภาษีสำหรับคนโสดมากขึ้น เพราะหวั่นวิตกว่าในอนาคตประเทศไทยของเรา จะขาดแคลนแรงงานคนหนุ่มสาว เพราะฉะนั้นจึงต้องใช้กำแพงภาษีมาบีบบังคับทางอ้อมให้คนหนุ่มสาวรีบแต่งงาน จากนั้นก็รีบเร่งผลิตประชากรออกมา เพื่อให้ทันกับการรองรับตลาดแรงงานในอนาคต แหม !ทำยังกะมนุษย์เราเป็นสัตว์เศรษฐกิจยังงั้นแหละ บังคับให้เกิด บังคับให้กิน บังคับให้เติบโต บังคับให้แพร่เผ่าพันธุ์ สุดท้ายคงมีการบังคับให้ตายด้วยละมั้ง ฟังดูแล้วเหมือนนิยายใช่มั้ยล่ะ แต่ว่านิยายเรื่องที่ไม่น่าเกิดมันก็เกิดขึ้นมาจนได้ครับ (ผมก็ไม่ทราบว่าท่านๆทั้งหลายเอาอะไรมาคิดและวิเคราะห์เหมือนกัน) แต่ก็ไม่ต้องแปลกใจครับในประเทศสารขันธ์อะไรแปลกๆมักเกิดขึ้นได้เสมอ
แต่สำหรับผมแล้ว มองว่ามันคงเป็นแค่เรื่องขำขันคลายเครียดเท่านั้น ในการที่จะนำมาปฏิบัติบังคับใช้ให้ได้จริงๆนั้นคงเป็นไปได้ยาก ขนาดแค่นำเสนอยังโดนจวกซะเละเทะ นี่ยังไม่นับขั้นตอนต่างที่จะต้องนำมาประกอบการบังคับใช้อีกจำนวนมากมายหลายขนาน (ไม่ทราบว่าท่านผู้รู้ท่านได้เตรียมการคิดไว้บ้างหรือยัง)เป็นต้นว่า ขอบเขตหรือคำจำกัดความของคนโสดนั้นคืออะไร? แล้วจะมีวิธีการตรวจสอบและยืนยัน ความเป็นโสดได้อย่างไร? อายุแค่ไหนที่ยังไม่มี ผัว-เมีย ถึงจะเริ่มเรียกว่าโสด และจุดสิ้นสุดมันอยู่ตรงไหน? พระ-เณร-ชี-ทหาร-ตำรวจชายแดน-โจรผู้ร้ายที่ถูกคุมขัง ทั้งหลายรวมอยู่ในข่ายนี้ด้วยหรือไม่? อีกทั้งกลุ่มคนที่ไม่อยู่ในฐานภาษี-กลุ่มคนผู้พิการหรือบกพร่องด้วยสาเหตุต่างๆจะมีวิธีการปฏิบัติอย่างไร? ไหนจะกลุ่มคนประเภทที่สามทุกรูปแบบคุณจะเอาอย่างไรกับพวกเขาดี? โอ๊ย! แค่คิดเล่นๆแบบนักวิชาเกินอย่างผมยังรู้สึกปวดหัวเลยครับ แต่จริงๆแล้วเท่าที่ผมเห็นนะ คนโสดส่วนใหญ่มักจะเป็นคนที่สามารถอยู่ด้วยตนเองได้ไม่เดือดร้อนเรื่องเงินทอง พูดง่ายๆก็คือคนที่มีตังค์นั่นแหละครับ ส่วนคนจนๆหรือคนหาเช้ากินค่ำทำงานรายวัน กลุ่มคนประเภทนี้ส่วนใหญ่มักจะมีครอบครัวเร็ว เพราะต้องการคนมาช่วยหารค่าใช้จ่ายหรือร่วมสร้างฐานะด้วยกัน ทีนี้พอแต่งงานมีครอบครัว มีลูกก็ไม่สามารถดูแลได้เพราะยังต้องตั้งหน้าตั้งตาทำงานหากินหาจ่ายไปวันๆและเพื่อการสร้างฐานะดังตั้งใจไว้ ภาระการเลี้ยงดูทั้งหลายก็เลยตกไปอยู่กับปู่ย่าตายายที่บ้าน ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอที่จะเอาเงินไปสนับสนุนช่วยเหลือและลดภาษีให้กับครอบครัวที่มีลูก 2-3คนเหล่านั้น แต่กับข้อเสนอที่ว่าจะบังคับใช้มาตรการภาษีกับกลุ่มคนที่ไม่อยากมีครอบครัว ไม่อยากมีลูกทำในสิ่งที่เขาไม่ต้องการผมว่าไม่..จะดีกว่ามั้งครับ
พูดกันเล่นๆนะผมว่า ถ้าอยากได้ภาษีแบบเต็มๆจากการเรียกเก็บจากคนโสดนั้นมันไม่ง่ายนักหรอกครับ เพราะว่าการเลิกเป็นคนโสดนั้นมันง่ายซะยิ่งกว่าการเดินไปขึ้นรถเมล์หน้าปากซอยซะอีก ถ้าไม่เชื่อลองประกาศบังคับกฏหมายดูสิ ไม่ทันได้เก็บภาษีหรอกคนโสดทั้งหลาย ก็กลายเป็นคนไม่โสดกันหมดแล้ว (ผมเชื่อว่าเค้ามีวิธีการของเขาละกันน่า)ถ้าอยากเก็บภาษีแบบง่ายๆ และหลีกเลี่ยงได้ยากแล้วละก็ ผมขอเสนอให้จัดเก็บ"ภาษีคนอ้วน"แทนการเรียกเก็บ "ภาษีคนโสด"น่าจะดีกว่าแน่นอนครับ ดังที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า "ความอ้วน" เป็นบ่อเกิดแห่งโรคภัยทั้งหลายอาทิเช่น เบาหวาน ความดัน ไขมัน โรคหัวใจ ฯลฯ ทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้และบุคลากรส่วนหนึ่งไปในการดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ เพราะฉะนั้นน่าจะเป็นการดีครับที่เรียกเก็บภาษีจากความอ้วน อ้วนมากจ่ายมากอ้วนน้อยก็จ่ายน้อย คำจำกัดความก็ไม่ยาก ไม่ว่าหญิง ชาย เด็ก คนแก่ พระเณร บุคคลเพศที่สามทั้งหมด หากดัชนีมวลกายเกินพิกัดก็ถือว่าอ้วน วิธีการตรวจสอบก็ไม่ยุ่งยากถึงเวลายื่นแบบเสียภาษีก็จับขึ้นตาชั่งๆน้ำหนักหาดัชนีมวลกายกันไปเลย เกินเท่าไหร่ก็จ่ายกันไปตามอัตราที่ตกลงกันไว้เช่น ถ้าดัชนีมวลกายเกินไป 0.1 ก็เสียภาษี 100 บาทเป็นต้น ในปีต่อๆไปถ้าสามารถลดน้ำหนักลงได้ก็สามารถนำมาหักลดหย่อนคืนได้ตามกระบวนการขอคืนภาษี สำหรับกลุ่มคนที่ไม่อยู่ในฐานภาษีก็ให้ใช้ข้อมูลจากโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลเอกชลรวมถึงคลีนิกต่างๆ ซึ่งต้องทำการตรวจวัดส่วนสูง ชั่งน้ำหนัก วัดความดัน อันเป็นเรื่องที่ต้องทำเป็นปกติทุกครั้งอยู่แล้วก่อนที่เราจะเข้าไปพบแพทย์(ใครคิดจะไม่เข้าโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลต่างๆบ้างก็แล้วไป วันนี้ไม่เข้าสักวันก็ต้องเข้า ยังไงก็ต้องได้ข้อมูลส่วนนี้อยู่ดี ถ้าตรวจสอบพบว่าอ้วนมานานแล้วก็เก็บภาษีย้อนหลังซะให้เข็ด ยกเว้นคนอยากอ้วนและเต็มใจเสียภาษี(อันนั้นไม่ว่ากัน)หรือผู้ที่แพทย์ระบุว่าเป็นผู้ป่วยโรคอ้วน หรือมีผลข้างเคียงจากการรักษาทำให้เกิดความอ้วนโดยไม่ได้ตั้งใจ)
แบบนี้น่าจะดีที่สุดนะผมว่า มาตรการนี้คงไม่ค่อยกระทบกับคนจนๆ ซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศเท่าไหร่ เพราะว่าคนจนๆส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยอ้วนหรือมีบ้างที่อ้วนก็น้อยคนก็ไม่เห็นต้องกังวลอะไร กลุ่มคนที่น่าจะกังวลใจมากที่สุดก็คือ กลุ่มคนผู้มีอันจะกินนี่แหละครับ มีเงินมากกินมาก กินหมูเห็ดเป็ดไก่ ฯล ห่างไกลน้ำพริกผักจิ้ม ยิ่งกินมากเหลือสะสมมากก็อ้วนมาก หากไม่หาวิธีลดให้ได้ก็จ่ายภาษีซะให้อ่วมอรทัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบต่อบุคคลทั่วไป เช่น หมอ พยาบาล (ถ้าอ้วนซะเองจะไปแนะนำใครเค้าได้) ทหาร ตำรวจ (นี่ยิ่งแล้วใหญ่ ถ้าอ้วนแล้วจะไปวิ่งจับโจรผู้ร้ายทันที่ไหนกัน) ครูบาอาจารย์ นักวิชาการทั้งหลาย ฯล (นี่ก็เป็นส่วนสำคัญ เพราะว่าเป็นผู้ที่ให้คำแนะนำและคำสั่งสอน)บุคคลสาธารณะต่างๆ เช่น ดารา นักแสดง นักร้อง นักดนตรี พิธีกร นักการเมือง ฯล(คือกลุ่มบุคคลที่ต้องเป็นแกนนำและทำตนเป็นตัวอย่าง) ซึ่งต้องทำหน้าที่เป็นตัวอย่างที่ดีและต้องสามารถให้คำแนะนำผู้อื่นได้ด้วย ถ้าหากยังทำตัวอ้วนซะเองก็ต้องเก็บภาษีมากกว่าบุคคลธรรมดาทั่วไปสักสองเท่า (โทษฐานอ้วนในหน้าที่) เชื่อผมเหอะแค่ปีแรกปีเดียวก็ไม่มีที่จะเก็บเงินภาษีแล้วล่ะครับ รับรองว่าพอประกาศใช้ปุ๊บปีแรกนี่ลดน้ำหนักกันไม่ทันแน่นอน ด้วยวิธีการตรวจสอบแบบง่ายๆหมดสิทธิ์หลีกเลี่ยงครับใครอ้วนใครผอมก็เห็นกันอยู่จะๆ วิธีการนี้แหละครับ จะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคร้ายให้กับประชาชนและลดรายจ่ายของรัฐไปในตัว ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวเห็นๆ
ทั้งหมดมันก็เป็นเพียงความคิดบ้าๆเรื่อยเปื่อยของผมคนเดียวนะครับ หวังว่ามันคงไม่เกิดขึ้นจริงๆ ไม่งั้นคงโดนด่าจมหูเหมือนกัน แต่ก็อย่างว่าละครับผู้ได้รับผลกระทบเค้าก็คงมีวิธีการแก้ไข หลีกเลี่ยงไปจนได้หละน่า จากประสบการณ์ของผมเมื่อครั้งยังมีหน้าที่รับผิดชอบด้าน ISO อยู่ในบริษัทแห่งหนึ่ง วิธีการแก้ปัญหาแบบหนึ่งที่นิยมกันมากก็คือ ข้อไหนที่เขียนไปแล้วทำไม่ได้ ตรวจทีไรโดน CARทุกที แก้ไม่ไหวจริงๆก็แก้ไข QP,WI ใหม่ซะ ใส่และหรือเข้าไปก็ง่ายขึ้น แย่สุดๆจริงก็ลบมันทิ้งไปเลยสิ้นเรื่อง (หลายๆแห่งคงใช้วิธีเดียวกัน) แนวทางการแก้ไขเรื่อง การพิจารณาตรวจสอบความอ้วนก็คงจะคล้ายๆกัน เมื่อลดน้ำหนักไม่ได้ก็ต้องแก้ไขมาตรฐานการตรวจสอบในรายละเอียดปลีกย่อยกันละทีนี้ คงมีการเติม และ/หรือ เต็มไปหมดในหัวข้อการตรวจต่างๆ เราอาจจะได้เห็นกฏเกณฑ์ใหม่ๆในการหาน้ำหนักมาตรฐานซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามดุลยพินิจของคนร่างกฏหมาย เป็นต้นว่า ผู้มีน้ำหนักไม่เกิน 100 กิโกรัมถือว่ามาตรฐานเกินจากนั้นคือน้ำหนักเกินปกติ น้ำหนักมากกว่า 150 กิโลกรัมถือว่าอ้วน (ว่ากันไปนั่นเลย แก้ไขตัวเองไม่ได้ แก้ไขกฏซะเลยง่ายดี)
สรุปแล้วก็คือ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกเก็บภาษีเพิ่มด้วยวิธีการใดๆก็ตามที ล้วนแล้วแต่ไม่ดีทั้งนั้นแหละสำหรับคนที่มีหน้าที่เสียภาษีแบบเต็มๆอยู่แล้ว ไหนจะภาษีเงินได้ ภาษีที่ดิน ภาษีโรงเรือน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสังคม ฯล แค่นี้เงินเดือนก็แทบจะไม่เหลืออะไรอยู่แล้ว ยิ่งคนโสดไม่ต้องพูดถึง เสียเต็มๆทุกเม็ด จะมองหาอะไรมาลดหย่อนก็ไม่มี หนำซ้ำยังจะมาโดนเรียกเก็บเพิ่มเข้าไปอีก มันน่าช้ำใจมั้ยล่ะ สำหรับคนโสดท่านใดที่ฐานเงินเดือนไม่ถึงไม่เสียภาษีอยู่แล้วก็ดีใจด้วย แต่ถ้าคนโสดท่านใดที่เสียภาษีเต็มๆอยู่แล้ว ก็ต้องช่วยกันภาวนาอย่าให้ผ่านกฏหมายออกมาบังคับใช้ก็แล้วกันละครับงานนี้ สำหรับเรื่องภาษีคนอ้วนนั้น ก็ขอให้เป็นแค่เรื่องอ่านสนุกสนานกันเล่นๆนะครับอย่าไปซีเรียสกับมันมากนัก แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะมีการเรียกเก็บหรือไม่เรียกเก็บภาษีคนอ้วนก็ตามที คงจะเป็นการดีกว่าถ้าเราทุกคนรู้จักดูแลตัวเองไม่ให้อ้วน และรักษาสุขภาพให้แข็งแรงให้ได้นานเท่าที่จะทำได้ สุดท้ายขอให้ผู้อ่านทุกท่านโชคดีไม่เสียทั้ง"ภาษีคนโสด"หรือว่า"ภาษีคนอ้วน"ก็แล้วกันครับ...
ขอบคุณภาพประกอบเรื่องจาก http://www.posttoday.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น